หนังสือชี้ชวนกับรายงานประจำปีแตกต่างกันอย่างไรและมีประโยชน์อย่างไร? สำหรับกรณี “หนังสือชี้ชวน” เป็นสารสนเทศที่อาจมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์
หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน คือ เอกสารสำคัญที่บริษัทจัดการจะต้องจัดทำขึ้น และต้องเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนทราบ หรือแจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุน (เมื่อถูกร้องขอ) ทุกครั้งที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุน
หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งบริษัทจัดการจัดทำขึ้นให้มี 2 ส่วน คือ
- ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบ
- ส่วนข้อมูลโครงการ
ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ที่ผู้ลงทุนควรทราบ ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
- ลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม (key feature)
- ชื่อ ประเภท และอายุของโครงการ
- จำนวนเงินทุนของโครงการ มูลค่าที่ตราไว้ จำนวนและราคาของหน่วยลงทุนที่เสนอขาย
- นโยบายและวัตถุประสงค์การลงทุน
- นโยบายการจ่ายเงินปันผล
- วันที่เสนอขายหน่วยลงทุน
- สถานที่ติดต่อซื้อขายหน่วยลงทุน
- ชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ดูแลผลประโยชน์ นายทะเบียนหน่วยลงทุน และผู้สอบบัญชี
- กำหนดเวลาการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนภายหลังการเสนอขายครั้งแรก และระยะเวลาการชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุน (เฉพาะกองทุนเปิด)
- หลักเกณฑ์และกำหนดเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (ถ้ามี) (เฉพาะกองทุนปิด)
- ข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมในกรณีที่เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมมีประกัน เป็นต้น
- คำเตือนและข้อแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุน เช่น “การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้” (ยกเว้นกรณีกองทุนรวมมีประกัน) “ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจก่อนซื้อหน่วยลงทุน และเก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถขอหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการได้ที่บริษัทจัดการหรือผู้ขายหน่วยลงทุน” เป็นต้น
- ความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนรวมนั้น ให้มีรายละเอียดอย่างน้อย ดังนี้
- ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร (credit risk)
- ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสาร (market risk)
- ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของตราสาร (liquidity risk)
- ความเสี่ยงในความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของผู้ประกัน (เฉพาะกองทุนรวมมีประกัน)
- แนวทางการบริหารเพื่อลดความเสี่ยง (ถ้ามี)
- การเปรียบเทียบความเสี่ยงและผลตอบแทนกับกองทุนรวมประเภทอื่น (ถ้ามี)
- ตารางแสดงค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เรียก เก็บจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยลงทุน รวม หรือกองทุนรวม
- วัน เดือน ปี ที่รวบรวมข้อมูลไว้ในหนังสือชี้ชวน
ส่วนข้อมูลโครงการ ต้องมีรายการตามที่มีปรากฏในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญและอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- ประเภท ชื่อ จำนวน และมูลค่าตามราคาตลาดหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นที่กองทุนรวมลงทุนไว้
- ความเห็นของผู้ดูแลผลประโยชน์เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมของบริษัทจัดการ
- ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมโดยใช้วิธีวัดผลการดำเนินงานมาตรฐานที่สมาคมกำหนด หากใช้วิธีวัดผลการดำเนินงานอื่นใด ให้แสดงผลการดำเนินงานที่ใช้วิธีวัดผลการดำเนินงานตามมาตรฐานที่สมาคมกำหนดควบคู่กันไปด้วย เป็นต้น
บริษัทจัดการต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนของกองทุนเปิดใหม่ทุกรอบปีบัญชีซึ่งต้องแสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ณ วันสิ้นปีบัญชีนั้น ทั้งนี้ หนังสือชี้ชวนแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเช่นเดียวกันกับหนังสือชี้ชวนที่จัดทำขึ้นสำหรับการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก และให้เพิ่มเติมวันที่จดทะเบียนกองทุนรวมในส่วนลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวมด้วย
ส่วนกรณี “รายงานประจำปี” จะมีความหมายดังนี้
รายงานประจำปี คือ รายงานผลการดำเนินงานและฐานะการเงินขององค์การธุรกิจประจำปีที่ฝ่ายบริหาร จะต้องจัดทำ และนำเปิดเผยข้อมูลตามสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
รายงานประจำปีตามเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ที่ตลท. กำหนดนั้น จะต้องนำส่งภายใน 110 วันนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่บริษัทจดทะเบียนได้นำส่งให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อใช้ประกอบการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี จำนวน 4 ชุด พร้อม CD-ROM (ถ้ามี) ซึ่งหากบริษัทจดทะเบียนมีผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติให้จัดทำและนำส่งฉบับภาษาอังกฤษด้วย ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์สนับสนุนให้บริษัทเผยแพร่รายงานประจำปีผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลทางอิเลคทรอนิคส์ของตลาดหลักทรัพย์
ประโยชน์ของรายงานประจำปี และหนังสือชี้ชวน มีดังนี้
– เป็นสารสนเทศที่อาจมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อหลักทรัพย์ของบริษัท
– เป็นสารสนเทศที่อาจมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์
– เป็นสารสนเทศที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
ที่มาของข้อมูล : https://www.set.or.th/th/regulations/simplified_regulations/files/20140314_Meeting_v2.pdf